บริษัท เทรนเนอร์ อิน ไทย จำกัด :: 02 328 2110

กฎกระทรวงฯ ความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2547

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการ

ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฎษฎีกา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๓๕ ก วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๗

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

“ที่อับอากาศ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัดและมีการระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพถูกสุขลักษณะและปลอดภัย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

“บรรยากาศอันตราย” หมายความว่า สภาพอากาศที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากสภาวะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) มีออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ ๑๙.๕ หรือมากกว่าร้อยละ ๒๓.๕ โดยปริมาตร

(๒) มีก๊าซ ไอ ละอองที่ติดไฟหรือระเบิดได้ เกินร้อยละ ๑๐ ของค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (Lower Flammable Limit หรือ Lower Explosive Limit)

(๓) มีฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (Lower Flammable Limit หรือ Lower Explosive Limit)

(๔) มีค่าความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิดเกินมาตรฐานที่กำหนดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

(๕) สภาวะอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

หมวด ๑
บททั่วไป
———————–
ข้อ ๓ ให้นายจ้างจัดทำป้ายแจ้งข้อความว่า “ที่อับอากาศ อันตราย ห้ามเข้า” ให้มีขนาดมองเห็นได้ชัดเจน ติดตั้งไว้โดยเปิดเผยบริเวณทางเข้าออกของที่อับอากาศทุกแห่ง

ข้อ ๔ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าไปในที่อับอากาศ เว้นแต่นายจ้างได้ดำเนินการให้มีความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้แล้ว และลูกจ้างหรือบุคคลนั้นได้รับอนุญาตจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตตามข้อ ๑๘ และเป็นผู้ผ่านการอบรมตามข้อ ๒๑

ข้อ ๕ ห้ามนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าไปในที่อับอากาศหากนายจ้างรู้หรือควรรู้ว่าลูกจ้างหรือบุคคลนั้นเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หรือโรคอื่นซึ่งแพทย์เห็นว่าการเข้าไปในที่อับอากาศอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลดังกล่าว

หมวด ๒
มาตรการความปลอดภัย
———————–
ข้อ ๖ ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจวัด บันทึกผลการตรวจวัด และประเมินสภาพอากาศในที่อับอากาศว่ามีบรรยากาศอันตรายหรือไม่ โดยให้ดำเนินการทั้งก่อนให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานและในระหว่างที่ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศ

ถ้านายจ้างตรวจพบบรรยากาศอันตราย ให้นายจ้างดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) นำลูกจ้างและบุคคลที่อยู่ในที่อับอากาศออกจากบริเวณนั้นทันที

(๒) ประเมินและค้นหาว่าบรรยากาศอันตรายเกิดจากสาเหตุใด

(๓) ดำเนินการเพื่อทำให้สภาพอากาศในที่อับอากาศนั้นไม่มีบรรยากาศอันตราย เช่น การระบายอากาศ หรือการปฏิบัติตามมาตรการอื่น

หากนายจ้างได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้วที่อับอากาศนั้นยังมีบรรยากาศอันตรายอยู่ แต่นายจ้างมีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าไปในที่อับอากาศที่มีบรรยากาศอันตรายนั้น ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างหรือบุคคลนั้นสวมใส่หรือใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลชนิดที่ทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานในที่อับอากาศนั้นได้โดยปลอดภัย

ให้นายจ้างเก็บบันทึกผลการตรวจวัด การประเมินสภาพอากาศ และการดำเนินการเพื่อให้สภาพอากาศในที่อับอากาศไม่มีบรรยากาศอันตรายไว้พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ข้อ ๗ กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศให้นายจ้างแต่งตั้งลูกจ้างที่มีความรู้ความสามารถและได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ ให้เป็นผู้ควบคุมงานคนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็นเพื่อทำหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) วางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานและปิดประกาศหรือแจ้งให้ลูกจ้างทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

(๒) ชี้แจงและซักซ้อมหน้าที่ความรับผิดชอบ วิธีการปฏิบัติงาน และวิธีการป้องกันอันตรายให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

(๓) ควบคุมดูแลให้ลูกจ้างใช้เครื่องป้องกันอันตราย และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และให้ตรวจตราอุปกรณ์ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งาน

(๔) สั่งให้หยุดการทำงานไว้ชั่วคราว ในกรณีที่มีเหตุซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกจ้างจนกว่าเหตุนั้นจะหมดไป และหากจำเป็นจะขอให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตตามข้อ ๑๘ ยกเลิกการอนุญาตนั้นเสียก็ได้

ข้อ ๘ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ คนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็น เป็นผู้ช่วยเหลือ พร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน คอยเฝ้าดูแลบริเวณทางเข้าออกที่อับอากาศโดยให้สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกจ้างที่ทำงานในที่อับอากาศได้ตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างออกจากที่อับอากาศ

ข้อ ๙ ให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงานตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และนายจ้างต้องควบคุมดูแลให้ลูกจ้างซึ่งทำงานในที่อับอากาศและผู้ช่วยเหลือสวมใส่หรือใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตนั้น

ข้อ ๑๐ ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งปิดกั้นมิให้บุคคลใดเข้าหรือตกลงไปในที่อับอากาศที่มีลักษณะเป็นช่อง โพรง หลุม ถังเปิด หรือที่มีลักษณะคล้ายกัน

ข้อ ๑๑ ให้นายจ้างปิด กั้น หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใดที่มีผลในการป้องกันมิให้พลังงานสาร หรือสิ่งที่เป็นอันตรายเข้าสู่บริเวณที่อับอากาศในระหว่างที่ลูกจ้างกำลังทำงาน

ข้อ ๑๒ ให้นายจ้างจัดบริเวณทางเดินหรือทางเข้าออกที่อับอากาศให้มีความสะดวกและปลอดภัย

ข้อ ๑๓ ให้นายจ้างประกาศห้ามลูกจ้างสูบบุหรี่ หรือพกพาอุปกรณ์สำหรับจุดไฟหรือ ติดไฟ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานเข้าไปในที่อับอากาศปิดไว้บริเวณทางเข้าออกที่อับอากาศ

ข้อ ๑๔ ให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เหมาะสมในการใช้งานในที่อับอากาศ และตรวจสอบให้อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นมีสภาพสมบูรณ์และปลอดภัยพร้อมใช้งาน ถ้าที่อับอากาศนั้นมีบรรยากาศที่ไวไฟหรือระเบิดได้ ต้องเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดที่สามารถป้องกันมิให้ติดไฟหรือระเบิดได้

ข้อ ๑๕ ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพและจำนวนเพียงพอที่จะใช้ได้ทันทีเมื่อมีการทำงานที่อาจก่อให้เกิดการลุกไหม้

ข้อ ๑๖ ห้ามนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานที่ก่อให้เกิดความร้อน หรือประกายไฟในที่อับอากาศ เช่น การเชื่อม การเผาไหม้ การย้ำหมุด การเจาะ หรือการขัด เว้นแต่จะได้จัดให้มีมาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสมตามหมวดนี้

ข้อ ๑๗ ห้ามนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานที่ใช้สารระเหยง่าย สารพิษ สารไวไฟในที่อับอากาศ เว้นแต่จะได้จัดให้มีมาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสมตามหมวดนี้

หมวด ๓
การอนุญาต
———————–
ข้อ ๑๘ ให้นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศ ในการนี้นายจ้างจะมอบหมายเป็นหนังสือให้ลูกจ้างซึ่งได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ คนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็น เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตแทนก็ได้

ให้นายจ้างเก็บหนังสือมอบหมายไว้ ณ สถานประกอบกิจการพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ข้อ ๑๙ ให้นายจ้างจัดให้มีหนังสืออนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศทุกครั้ง และหนังสืออนุญาตนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

(๑) ที่อับอากาศที่อนุญาตให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน

(๒) วัน เวลา ในการทำงาน

(๓) งานที่ให้ลูกจ้างเข้าไปทำ

(๔) ชื่อลูกจ้างที่อนุญาตให้เข้าไปทำงาน

(๕) ชื่อผู้ควบคุมงานตามข้อ ๗

(๖) ชื่อผู้ช่วยเหลือตามข้อ ๘

(๗) มาตรการความปลอดภัยที่เตรียมไว้ก่อนการให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน

(๘) ผลการตรวจสภาพอากาศและสภาวะที่อาจเกิดอันตราย

(๙) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิต

(๑๐) อันตรายที่ลูกจ้างอาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย

(๑๑) ชื่อและลายมือชื่อผู้ขออนุญาต และชื่อและลายมือชื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตตามข้อ ๑๘

ข้อ ๒๐ ให้นายจ้างเก็บหนังสืออนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๑๙ ไว้ ณ สถานที่ประกอบกิจการพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ และให้ปิดสำเนาหนังสือดังกล่าวไว้ที่บริเวณทางเข้าที่อับอากาศให้เห็นชัดเจนตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน

หมวด ๔
การฝึกอบรม
———————–
ข้อ ๒๑ ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในที่อับอากาศ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัย ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงาน

ข้อ ๒๒ ให้นายจ้างเก็บหลักฐานการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ ไว้พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗
อุไรวรรณ เทียนทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

Read More

ประกาศกรมฯ หลักเกณฑ์การฝึกอบรมการทำงานในที่อับอากาศ

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ
พ.ศ. ๒๕๔๙

เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๒๕ ง ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

โดยที่ข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในที่อับอากาศ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัย ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๙”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

หมวด ๑
หลักเกณฑ์ วิธีการฝึกอบรม
———————–

ข้อ ๔ ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หลักสูตรการฝึกอบรมและวิทยากรฝึกอบรมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

กรณีที่นายจ้างไม่สามารถจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้แก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการฝึกอบรมกับหน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ข้อ ๕ ในการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ผู้จัดฝึกอบรมต้องดำเนินการดังนี้

(๑) แจ้งกำหนดการฝึกอบรมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนการจัดฝึกอบรม

(๒) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตรที่กำหนด

(๓) จัดให้มีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม

(๔) ออกใบรับรองให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม

ข้อ ๖ ผู้จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องจัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาคทฤษฎีไม่เกินสามสิบคน และวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน และในภาคปฏิบัติต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินสิบห้าคน

ข้อ ๗ ในการฝึกภาคปฏิบัติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องได้รับการฝึกภาคปฏิบัติในสถานที่จริงหรือมีลักษณะเหมือนสถานที่จริง และได้รับการฝึกใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมอย่างทั่วถึงทุกคน

ข้อ ๘ รายการอุปกรณ์การฝึกอบรมภาคปฏิบัติอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย

(๑) เครื่องตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ

(๒) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้

(๓) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศ

(๔) เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ

(๕) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามเนื้อหาหลักสูตร ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดส่งอากาศช่วยหายใจ อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน

ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้จัดฝึกอบรม ให้นายจ้างเลือกใช้เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศตามความเหมาะสมกับสารเคมีที่มีในสถานประกอบกิจการ

หมวด ๒
หลักสูตรการฝึกอบรม
———————–

ข้อ ๙ หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศมี ดังนี้

(๑) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต

(๒) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน

(๓) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ

(๔) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

(๕) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

ข้อ ๑๐ หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๙ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมหกชั่วโมง ดังนี้

(๑) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๒) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) การประเมินสภาพงานและการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย หนึ่งชั่วโมง

(๕) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๖) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(๗) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

ข้อ ๑๑ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

ข้อ ๑๒ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมเก้าชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที

(๕) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง

ข้อ ๑๓ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมสิบชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที

(๕) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที

(๖) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต สามสิบนาที

(๗) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าชั่วโมง

ข้อ ๑๔ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมเก้าชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที

(๕) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง

ข้อ ๑๕ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมสิบเอ็ดชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที

(๕) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที

(๖) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(๗) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที

(๘) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต สามสิบนาที

(๙) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าชั่วโมง

หมวด ๓
วิทยากรฝึกอบรม
———————–

ข้อ ๑๖ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคทฤษฎีต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า

(๒) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โดยผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสองปี

(๓) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมาไม่น้อยกว่าสามปี โดยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสามปี

(๔) มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าห้าปี

(๕) สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการอบรมเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยาย

(๖) ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับ

ข้อ ๑๗ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๒) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสองปี

(๓) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมาไม่น้อยกว่าสามปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสามปี

(๔) มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าห้าปี

(๕) สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการอบรมเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยาย และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยายไม่น้อยกว่าห้าปี

(๖) ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับ และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

หมวด ๔
การขึ้นทะเบียนหน่วยงานฝึกอบรม
———————–
ข้อ ๑๘ หน่วยงานที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ได้แก่

(๑) สถาบันการศึกษาของรัฐ หรือเอกชน ซึ่งมีหลักสูตรการสอน สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า

(๒) หน่วยงานราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(๓) รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

(๔) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลอื่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน

(๕) หน่วยงานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๑๙ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีบุคลากรซึ่งมีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทำหน้าที่บริหารจัดการการฝึกอบรมอย่างน้อยหนึ่งคน

(๒) มีวิทยากรซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๑๖ หรือข้อ ๑๗ ที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาในหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศอย่างน้อยหนึ่งคน

(๓) มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมที่มีเนื้อหาและรายละเอียดตามหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน

(๔) มีอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน

(๕) ไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง เว้นแต่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง

(๖) ไม่มีผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศอื่นที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรองมาแล้ว เว้นแต่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง

ข้อ ๒๐ ให้หน่วยงานที่มีความประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ยื่นคำขอพร้อมเอกสาร ดังต่อไปนี้ ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

(๑) สำเนาเอกสารที่แสดงถึงความเป็นหน่วยงานตามข้อ ๑๘

(๒) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน

(๓) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน

(๔) สำเนาหนังสือแสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของนิติบุคคลหรือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงาน

(๕) แผนที่แสดงที่ตั้งของหน่วยงานโดยสังเขป

(๖) แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติโดยสังเขป

(๗) รายชื่อเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติของบุคลากรซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการฝึกอบรม

(๘) รายชื่อเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติของวิทยากร รวมทั้งหนังสือยืนยันการเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงาน

(๙) เอกสารประกอบการฝึกอบรม ตามหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน

(๑๐) เอกสารแสดงรายการอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมตามข้อ ๘
ให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๒๑ เมื่อมีการยื่นคำขอตามข้อ ๒๐ และอธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีขึ้นทะเบียนผู้ยื่นคำขอนั้นเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ และออกใบสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียน พร้อมมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในห้าวัน นับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน

ในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว

ข้อ ๒๒ ในกรณีที่ปรากฏภายหลังว่า หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๒๑ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีเพิกถอนทะเบียน

ข้อ ๒๓ ในกรณีที่หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๒๑ มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง สถานภาพของหน่วยงาน วิทยากรฝึกอบรม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดจากที่ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนไว้ ให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศนั้นส่งเอกสารแสดงการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อ ๒๔ การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้มีอายุคราวละสามปี นับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน

หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอาจยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ก่อนวันที่การขึ้นทะเบียนจะสิ้นสุดลง และให้นำความในข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนโดยอนุโลม

หมวด ๕
การกำกับดูแล
———————–

ข้อ ๒๕ ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรม พร้อมรายชื่อวิทยากรเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ข้อ ๒๖ ให้นายจ้างจัดทำรายงานผลการฝึกอบรมตามข้อ ๔ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อหลักสูตรจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม ชื่อวิทยากร วันและเวลาที่ฝึกอบรม แจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เว้นแต่ในปีนั้นไม่ได้มีการฝึกอบรม

ข้อ ๒๗ ให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรม และเอกสารเกี่ยวกับการประเมินผลการฝึกอบรมแต่ละครั้ง โดยให้วิทยากรซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรมเป็นผู้รับรองเอกสารดังกล่าว และส่งเอกสารนั้นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม

ข้อ ๒๘ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สถานที่จัดการฝึกอบรมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงตรวจสอบ หรือกำกับ ดูแลให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้

ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งสิ่งของ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๒๙ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

(๒) สั่งให้หยุดการดำเนินงานเป็นการชั่วคราว

(๓) เพิกถอนทะเบียน

บทเฉพาะกาล
———————–

ข้อ ๓๐ ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ หรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามประกาศนี้

ข้อ ๓๑ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศซึ่งได้ใบรับรองตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ถือว่าเป็นหน่วยงานฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนตามประกาศนี้ จนกว่าใบรับรองจะสิ้นอายุ

ข้อ ๓๒ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อนหรือหลังวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับและผ่านการฝึกอบรมภายในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ให้ถือว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติเป็นวิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคปฏิบัติตามประกาศนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Read More