บริษัท เทรนเนอร์ อิน ไทย จำกัด :: 02 328 2110

กฎกระทรวงฯ ความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2547

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการ

ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฎษฎีกา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๓๕ ก วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๗

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

“ที่อับอากาศ” หมายความว่า ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัดและมีการระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพถูกสุขลักษณะและปลอดภัย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ถัง ไซโล ท่อ เตา ภาชนะหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

“บรรยากาศอันตราย” หมายความว่า สภาพอากาศที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากสภาวะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) มีออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ ๑๙.๕ หรือมากกว่าร้อยละ ๒๓.๕ โดยปริมาตร

(๒) มีก๊าซ ไอ ละอองที่ติดไฟหรือระเบิดได้ เกินร้อยละ ๑๐ ของค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (Lower Flammable Limit หรือ Lower Explosive Limit)

(๓) มีฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (Lower Flammable Limit หรือ Lower Explosive Limit)

(๔) มีค่าความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิดเกินมาตรฐานที่กำหนดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

(๕) สภาวะอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

หมวด ๑
บททั่วไป
———————–
ข้อ ๓ ให้นายจ้างจัดทำป้ายแจ้งข้อความว่า “ที่อับอากาศ อันตราย ห้ามเข้า” ให้มีขนาดมองเห็นได้ชัดเจน ติดตั้งไว้โดยเปิดเผยบริเวณทางเข้าออกของที่อับอากาศทุกแห่ง

ข้อ ๔ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าไปในที่อับอากาศ เว้นแต่นายจ้างได้ดำเนินการให้มีความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้แล้ว และลูกจ้างหรือบุคคลนั้นได้รับอนุญาตจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตตามข้อ ๑๘ และเป็นผู้ผ่านการอบรมตามข้อ ๒๑

ข้อ ๕ ห้ามนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าไปในที่อับอากาศหากนายจ้างรู้หรือควรรู้ว่าลูกจ้างหรือบุคคลนั้นเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หรือโรคอื่นซึ่งแพทย์เห็นว่าการเข้าไปในที่อับอากาศอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลดังกล่าว

หมวด ๒
มาตรการความปลอดภัย
———————–
ข้อ ๖ ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจวัด บันทึกผลการตรวจวัด และประเมินสภาพอากาศในที่อับอากาศว่ามีบรรยากาศอันตรายหรือไม่ โดยให้ดำเนินการทั้งก่อนให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานและในระหว่างที่ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศ

ถ้านายจ้างตรวจพบบรรยากาศอันตราย ให้นายจ้างดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) นำลูกจ้างและบุคคลที่อยู่ในที่อับอากาศออกจากบริเวณนั้นทันที

(๒) ประเมินและค้นหาว่าบรรยากาศอันตรายเกิดจากสาเหตุใด

(๓) ดำเนินการเพื่อทำให้สภาพอากาศในที่อับอากาศนั้นไม่มีบรรยากาศอันตราย เช่น การระบายอากาศ หรือการปฏิบัติตามมาตรการอื่น

หากนายจ้างได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้วที่อับอากาศนั้นยังมีบรรยากาศอันตรายอยู่ แต่นายจ้างมีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าไปในที่อับอากาศที่มีบรรยากาศอันตรายนั้น ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างหรือบุคคลนั้นสวมใส่หรือใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลชนิดที่ทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานในที่อับอากาศนั้นได้โดยปลอดภัย

ให้นายจ้างเก็บบันทึกผลการตรวจวัด การประเมินสภาพอากาศ และการดำเนินการเพื่อให้สภาพอากาศในที่อับอากาศไม่มีบรรยากาศอันตรายไว้พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ข้อ ๗ กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศให้นายจ้างแต่งตั้งลูกจ้างที่มีความรู้ความสามารถและได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ ให้เป็นผู้ควบคุมงานคนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็นเพื่อทำหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) วางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานและปิดประกาศหรือแจ้งให้ลูกจ้างทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

(๒) ชี้แจงและซักซ้อมหน้าที่ความรับผิดชอบ วิธีการปฏิบัติงาน และวิธีการป้องกันอันตรายให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

(๓) ควบคุมดูแลให้ลูกจ้างใช้เครื่องป้องกันอันตราย และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และให้ตรวจตราอุปกรณ์ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งาน

(๔) สั่งให้หยุดการทำงานไว้ชั่วคราว ในกรณีที่มีเหตุซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกจ้างจนกว่าเหตุนั้นจะหมดไป และหากจำเป็นจะขอให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตตามข้อ ๑๘ ยกเลิกการอนุญาตนั้นเสียก็ได้

ข้อ ๘ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ คนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็น เป็นผู้ช่วยเหลือ พร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน คอยเฝ้าดูแลบริเวณทางเข้าออกที่อับอากาศโดยให้สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกจ้างที่ทำงานในที่อับอากาศได้ตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างออกจากที่อับอากาศ

ข้อ ๙ ให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงานตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และนายจ้างต้องควบคุมดูแลให้ลูกจ้างซึ่งทำงานในที่อับอากาศและผู้ช่วยเหลือสวมใส่หรือใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตนั้น

ข้อ ๑๐ ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งปิดกั้นมิให้บุคคลใดเข้าหรือตกลงไปในที่อับอากาศที่มีลักษณะเป็นช่อง โพรง หลุม ถังเปิด หรือที่มีลักษณะคล้ายกัน

ข้อ ๑๑ ให้นายจ้างปิด กั้น หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใดที่มีผลในการป้องกันมิให้พลังงานสาร หรือสิ่งที่เป็นอันตรายเข้าสู่บริเวณที่อับอากาศในระหว่างที่ลูกจ้างกำลังทำงาน

ข้อ ๑๒ ให้นายจ้างจัดบริเวณทางเดินหรือทางเข้าออกที่อับอากาศให้มีความสะดวกและปลอดภัย

ข้อ ๑๓ ให้นายจ้างประกาศห้ามลูกจ้างสูบบุหรี่ หรือพกพาอุปกรณ์สำหรับจุดไฟหรือ ติดไฟ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานเข้าไปในที่อับอากาศปิดไว้บริเวณทางเข้าออกที่อับอากาศ

ข้อ ๑๔ ให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เหมาะสมในการใช้งานในที่อับอากาศ และตรวจสอบให้อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นมีสภาพสมบูรณ์และปลอดภัยพร้อมใช้งาน ถ้าที่อับอากาศนั้นมีบรรยากาศที่ไวไฟหรือระเบิดได้ ต้องเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดที่สามารถป้องกันมิให้ติดไฟหรือระเบิดได้

ข้อ ๑๕ ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพและจำนวนเพียงพอที่จะใช้ได้ทันทีเมื่อมีการทำงานที่อาจก่อให้เกิดการลุกไหม้

ข้อ ๑๖ ห้ามนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานที่ก่อให้เกิดความร้อน หรือประกายไฟในที่อับอากาศ เช่น การเชื่อม การเผาไหม้ การย้ำหมุด การเจาะ หรือการขัด เว้นแต่จะได้จัดให้มีมาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสมตามหมวดนี้

ข้อ ๑๗ ห้ามนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานที่ใช้สารระเหยง่าย สารพิษ สารไวไฟในที่อับอากาศ เว้นแต่จะได้จัดให้มีมาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสมตามหมวดนี้

หมวด ๓
การอนุญาต
———————–
ข้อ ๑๘ ให้นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศ ในการนี้นายจ้างจะมอบหมายเป็นหนังสือให้ลูกจ้างซึ่งได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ คนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็น เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตแทนก็ได้

ให้นายจ้างเก็บหนังสือมอบหมายไว้ ณ สถานประกอบกิจการพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ข้อ ๑๙ ให้นายจ้างจัดให้มีหนังสืออนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศทุกครั้ง และหนังสืออนุญาตนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

(๑) ที่อับอากาศที่อนุญาตให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน

(๒) วัน เวลา ในการทำงาน

(๓) งานที่ให้ลูกจ้างเข้าไปทำ

(๔) ชื่อลูกจ้างที่อนุญาตให้เข้าไปทำงาน

(๕) ชื่อผู้ควบคุมงานตามข้อ ๗

(๖) ชื่อผู้ช่วยเหลือตามข้อ ๘

(๗) มาตรการความปลอดภัยที่เตรียมไว้ก่อนการให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน

(๘) ผลการตรวจสภาพอากาศและสภาวะที่อาจเกิดอันตราย

(๙) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และอุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิต

(๑๐) อันตรายที่ลูกจ้างอาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย

(๑๑) ชื่อและลายมือชื่อผู้ขออนุญาต และชื่อและลายมือชื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตตามข้อ ๑๘

ข้อ ๒๐ ให้นายจ้างเก็บหนังสืออนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๑๙ ไว้ ณ สถานที่ประกอบกิจการพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ และให้ปิดสำเนาหนังสือดังกล่าวไว้ที่บริเวณทางเข้าที่อับอากาศให้เห็นชัดเจนตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน

หมวด ๔
การฝึกอบรม
———————–
ข้อ ๒๑ ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในที่อับอากาศ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัย ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงาน

ข้อ ๒๒ ให้นายจ้างเก็บหลักฐานการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๒๑ ไว้พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗
อุไรวรรณ เทียนทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

Read More

ประกาศกรมฯ หลักเกณฑ์การฝึกอบรมการทำงานในที่อับอากาศ

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ
พ.ศ. ๒๕๔๙

เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๒๕ ง ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

โดยที่ข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในที่อับอากาศ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัย ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๙”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

หมวด ๑
หลักเกณฑ์ วิธีการฝึกอบรม
———————–

ข้อ ๔ ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หลักสูตรการฝึกอบรมและวิทยากรฝึกอบรมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

กรณีที่นายจ้างไม่สามารถจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้แก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการฝึกอบรมกับหน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ข้อ ๕ ในการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ผู้จัดฝึกอบรมต้องดำเนินการดังนี้

(๑) แจ้งกำหนดการฝึกอบรมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนการจัดฝึกอบรม

(๒) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตรที่กำหนด

(๓) จัดให้มีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม

(๔) ออกใบรับรองให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม

ข้อ ๖ ผู้จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องจัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาคทฤษฎีไม่เกินสามสิบคน และวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน และในภาคปฏิบัติต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินสิบห้าคน

ข้อ ๗ ในการฝึกภาคปฏิบัติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องได้รับการฝึกภาคปฏิบัติในสถานที่จริงหรือมีลักษณะเหมือนสถานที่จริง และได้รับการฝึกใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมอย่างทั่วถึงทุกคน

ข้อ ๘ รายการอุปกรณ์การฝึกอบรมภาคปฏิบัติอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย

(๑) เครื่องตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ

(๒) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้

(๓) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศ

(๔) เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ

(๕) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามเนื้อหาหลักสูตร ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดส่งอากาศช่วยหายใจ อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน

ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้จัดฝึกอบรม ให้นายจ้างเลือกใช้เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศตามความเหมาะสมกับสารเคมีที่มีในสถานประกอบกิจการ

หมวด ๒
หลักสูตรการฝึกอบรม
———————–

ข้อ ๙ หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศมี ดังนี้

(๑) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต

(๒) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน

(๓) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ

(๔) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

(๕) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ

ข้อ ๑๐ หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๙ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมหกชั่วโมง ดังนี้

(๑) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๒) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) การประเมินสภาพงานและการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย หนึ่งชั่วโมง

(๕) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๖) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(๗) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

ข้อ ๑๑ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

ข้อ ๑๒ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมเก้าชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที

(๕) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง

ข้อ ๑๓ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมสิบชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที

(๕) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที

(๖) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต สามสิบนาที

(๗) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าชั่วโมง

ข้อ ๑๔ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมเก้าชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที

(๕) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง

ข้อ ๑๕ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมสิบเอ็ดชั่วโมง ดังนี้

(๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐

(๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง

(๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที

(๕) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที

(๖) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที

(๗) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที

(๘) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต สามสิบนาที

(๙) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น สามสิบนาที

การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าชั่วโมง

หมวด ๓
วิทยากรฝึกอบรม
———————–

ข้อ ๑๖ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคทฤษฎีต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า

(๒) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โดยผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสองปี

(๓) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมาไม่น้อยกว่าสามปี โดยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสามปี

(๔) มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าห้าปี

(๕) สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการอบรมเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยาย

(๖) ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับ

ข้อ ๑๗ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๒) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสองปี

(๓) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมาไม่น้อยกว่าสามปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสามปี

(๔) มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าห้าปี

(๕) สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการอบรมเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยาย และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยายไม่น้อยกว่าห้าปี

(๖) ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับ และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

หมวด ๔
การขึ้นทะเบียนหน่วยงานฝึกอบรม
———————–
ข้อ ๑๘ หน่วยงานที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ได้แก่

(๑) สถาบันการศึกษาของรัฐ หรือเอกชน ซึ่งมีหลักสูตรการสอน สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า

(๒) หน่วยงานราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(๓) รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

(๔) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลอื่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน

(๕) หน่วยงานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ ๑๙ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีบุคลากรซึ่งมีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทำหน้าที่บริหารจัดการการฝึกอบรมอย่างน้อยหนึ่งคน

(๒) มีวิทยากรซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๑๖ หรือข้อ ๑๗ ที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาในหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศอย่างน้อยหนึ่งคน

(๓) มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมที่มีเนื้อหาและรายละเอียดตามหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน

(๔) มีอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน

(๕) ไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง เว้นแต่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง

(๖) ไม่มีผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศอื่นที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรองมาแล้ว เว้นแต่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง

ข้อ ๒๐ ให้หน่วยงานที่มีความประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ยื่นคำขอพร้อมเอกสาร ดังต่อไปนี้ ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

(๑) สำเนาเอกสารที่แสดงถึงความเป็นหน่วยงานตามข้อ ๑๘

(๒) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน

(๓) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน

(๔) สำเนาหนังสือแสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของนิติบุคคลหรือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงาน

(๕) แผนที่แสดงที่ตั้งของหน่วยงานโดยสังเขป

(๖) แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติโดยสังเขป

(๗) รายชื่อเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติของบุคลากรซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการฝึกอบรม

(๘) รายชื่อเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติของวิทยากร รวมทั้งหนังสือยืนยันการเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงาน

(๙) เอกสารประกอบการฝึกอบรม ตามหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน

(๑๐) เอกสารแสดงรายการอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมตามข้อ ๘
ให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๒๑ เมื่อมีการยื่นคำขอตามข้อ ๒๐ และอธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีขึ้นทะเบียนผู้ยื่นคำขอนั้นเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ และออกใบสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียน พร้อมมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในห้าวัน นับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน

ในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว

ข้อ ๒๒ ในกรณีที่ปรากฏภายหลังว่า หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๒๑ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีเพิกถอนทะเบียน

ข้อ ๒๓ ในกรณีที่หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๒๑ มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง สถานภาพของหน่วยงาน วิทยากรฝึกอบรม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดจากที่ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนไว้ ให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศนั้นส่งเอกสารแสดงการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อ ๒๔ การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้มีอายุคราวละสามปี นับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน

หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอาจยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ก่อนวันที่การขึ้นทะเบียนจะสิ้นสุดลง และให้นำความในข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนโดยอนุโลม

หมวด ๕
การกำกับดูแล
———————–

ข้อ ๒๕ ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรม พร้อมรายชื่อวิทยากรเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ข้อ ๒๖ ให้นายจ้างจัดทำรายงานผลการฝึกอบรมตามข้อ ๔ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อหลักสูตรจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม ชื่อวิทยากร วันและเวลาที่ฝึกอบรม แจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เว้นแต่ในปีนั้นไม่ได้มีการฝึกอบรม

ข้อ ๒๗ ให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรม และเอกสารเกี่ยวกับการประเมินผลการฝึกอบรมแต่ละครั้ง โดยให้วิทยากรซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรมเป็นผู้รับรองเอกสารดังกล่าว และส่งเอกสารนั้นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม

ข้อ ๒๘ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สถานที่จัดการฝึกอบรมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงตรวจสอบ หรือกำกับ ดูแลให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้

ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งสิ่งของ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๒๙ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

(๒) สั่งให้หยุดการดำเนินงานเป็นการชั่วคราว

(๓) เพิกถอนทะเบียน

บทเฉพาะกาล
———————–

ข้อ ๓๐ ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ หรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามประกาศนี้

ข้อ ๓๑ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศซึ่งได้ใบรับรองตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ถือว่าเป็นหน่วยงานฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนตามประกาศนี้ จนกว่าใบรับรองจะสิ้นอายุ

ข้อ ๓๒ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อนหรือหลังวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับและผ่านการฝึกอบรมภายในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ให้ถือว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติเป็นวิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคปฏิบัติตามประกาศนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Read More

แนวทางการตรวจสุขภาพสำหรับการทำงานในที่อับอากาศ

ในการตรวจสุขภาพสำหรับการทำงานในที่อับอากาศนั้น สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้ออกแนวทางการตรวจสุขภาพคนทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2557

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แพทย์ที่ตรวจสุขภาพคนทำงานในที่อับอากาศในประเทศไทย ได้ใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินสุขภาพของคนทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ที่มา แนวทางการตรวจสุขภาพคนทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2557 , สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

ใครเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์สำหรับการทำงานในที่อับอากาศ

ผู้ออกใบรับรองแพทย์สำหรับการทำงานในที่อับอากาศ

จะต้องเป็นแพทย์ โดย “แพทย์” ในที่นี้ หมายถึง

ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525

ระยะเวลาของการรับรองสุขภาพ หรือ ใบรับรองแพทย์

ระยะเวลาของการรับรองสุขภาพ แนะนำให้คนทำงานในที่อับอากาศเข้ารับการตรวจสุขภาพทุก 1 ปี เป็นอย่างน้อย

แต่ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าคนทำงานนั้นมีความเสี่ยงสูง อาการของโรคอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมลงได้เมื่อเวลาผ่านไป อาจแนะนำให้คนทำงานนั้นมาตรวจประเมินสุขภาพถี่บ่อยขึ้นเพื่อความปลอดภัยต่อตัวคนทำงานผู้นั้นเองก็ได้

ขั้นตอนการตรวจสุขภาพ

ในการประเมินสุขภาพ แพทย์จะสอบถามข้อมูลสุขภาพ ด้วยคำถามคัดกรองอย่างน้อย 22 ข้อ ได้แก่
(1.) เคยเป็นการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ
(2.) เคยเป็นโรคลิ้นหรือผนังหัวใจตีบหรือรั่ว
(3.) เคยเป็นโรคหัวใจโต
(4.) เคยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
(5.) เคยเป็นโรคหัวใจชนิดอื่นๆ
(6.) เคยเป็นโรคหอบหืด
(7.) เคยเป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพอง
(8.) เคยเป็นโรคปอดชนิดอื่นๆ
(9.) เคยเป็นโรคลมชักและอาการชัก
(10.) เคยเป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
(11.) เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต
(12.) เคยเป็นโรคระบบประสาทชนิดอื่นๆ
(13.) เคยเป็นโรคปวดข้อหรือข้ออักเสบเรื้อรัง
(14.) เคยเป็นโรคหรือความผิดปกติของกระดูกและข้อ
(15.) เคยเป็นโรคกลัวที่แคบ
(16.) เคยเป็นโรคจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท
(17.) เคยเป็นโรคเบาหวาน
(18.) เคยเป็นโรคหรืออาการเลือดออกง่าย
(19.) เคยเป็นโรคไส้เลื่อน
(20.) เฉพาะผู้หญิง – ตั้งครรภ์ หรือไม่
(21.) เฉพาะผู้หญิง -เคยเป็นประจำเดือนครั้งสุดท้าย
(22.) เคยเป็นการเจ็บป่วยเป็นโรคอื่นๆ หรือประวัติทางสุขภาพที่สำคัญอื่น

นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพ และทำการสอบถามข้อมูลลักษณะการทำงานเมื่อเห็นว่าจำเป็นด้วย

หลังจากสอบถามข้อมูลสุขภาพและตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจพิเศษเพื่อดูสมรรถภาพร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจว่ามีความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศหรือไม่ โดยรายการตรวจพิเศษและเกณฑ์การพิจารณาเป็นดังนี้

Read More